วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

ธรรมชาติของการฟังดนตรี

การสร้างประสบการณ์ทางดนตรี

การสร้างประสบการณ์ทางดนตรี

    ดนตรีเป็นสุนทรียะหรือที่เรียกกันว่า ความงาม ความไพเราะ เป็นเรื่องของนามธรรมยากที่จะอธิบายให้เข้าใจด้วยภาษาเพราะแต่ละคนจะมีรสนิยมในเรื่องของความงามที่ต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล ประสบการณ์ที่แต่ละคนได้รับจะมีอิทธิพลต่อความชอบ ความรัก ความไพเราะ ความงาม ที่เกิดขึ้นในแต่ละคน ถึงแม้ว่าสุนทรียะทางดนตรีเป็นเรื่องนามธรรมเกิดขึ้นจำเพาะตัวบุคคลแต่เราสามารถสร้างประสบการณ์ให้เกิดการเรียนรู้ได้
            ขั้นตอนในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ทางสุนทรียะที่ควรคำนึงถึง คือ
            1. ความตั้งใจจดจ่อ ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องผนวกความตั้งใจจดจ่อต่อศิลปะ หรืออาจจะพูดอีกแง่หนึ่งว่าต้องมีความศรัทธาต่องานศิลปะ ความตั้งใจจดจ่อหรือความศรัทธามีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเข้าถึงงานศิลปะ และในทำนองเดียวกันความไม่ตั้งใจไร้ศรัทธาเป็นการปิดกั้นสุนทรียะของศิลปะตั้งแต่แรกเริ่ม การฟังดนตรีด้วยความตั้งใจจดจ่อ ฟังด้วยความศรัทธา โอกาสที่จะตอบสนองต่อเสียงดนตรีที่ได้ยินมีสูงทั้งทางร่างกายและทางความรู้สึก การที่ได้ยินเสียงดนตรีตามภัตตาคารต่าง ๆ ในระหว่างการรับประทานอาหารหรือเสียงดนตรีในงานเทศกาลต่าง ๆ เสียงดนตรีเหล่านั้นได้ยินผ่าน ๆ หูเราไปโดยมิได้ตั้งใจฟัง ซึ่งไม่สามารถสร้างความงามทางสุนทรียะให้เกิดขึ้นได้ สุนทรียะทางศิลปะเน้นความรู้สึกทางจิตมากกว่าความรู้สึกทางกาย
            ตัวอย่างการไปชมภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับความกลัวเช่น หนังผีเรารู้ว่าเป็นหนังผีเกี่ยวข้องกับความกลัว แต่เราก็ยังอยากดูและได้เตรียมตัวกลัวจากบ้านไปดูหนังผี คือมีความศรัทธาในความกลัวผีก่อนที่จะดูหนัง ในขณะที่เราดูหนังเราก็จินตนาการว่าจะต้องมีผีอยู่ทุกขณะจิต ความเงียบ ความวังเวง ความมืด เสียงระฆังจากโบสถ์หรือเสียงต่ำ ๆ ของเสียงดนตรี ช่วยสร้างบรรยากาศของความกลัวมากยิ่งขึ้น ทั้ง ๆ ที่มีผู้ชมเต็มโรงหนัง เราก็มีความรู้สึกว่าเราอยู่โดดเดี่ยวเผชิญกับผี แม้กระทั่งเพื่อนที่นั่งอยู่ข้าง ๆ สะกิดให้ตื่นจากภวังค์ เราก็เข้าใจเอาว่าผีสะกิดด้วยซ้ำไป ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะเราได้สร้างความตั้งใจกลัว ศรัทธาในความกลัวไว้ก่อนแล้ว
            2. การรับรู้ ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยการรับรู้ การรับรู้ เป็นความรู้ที่จะรู้ว่าสิ่งนั้น ๆ คืออะไร คุณภาพดีไหม และมีความเกี่ยวพันกันอย่างไร เป็นเรื่องของความรู้ไม่ใช่เรื่องของความจำหรือการจินตนาการ การรับรู้เป็นการรวบรวมความรู้สึกทั้งภายนอกและภายในที่มีผลต่อสิ่งเร้า แล้วเอามาสร้างเป็นความคิดรวบยอดต่องานศิลปะนั้น ๆ ซึ่งสามารถแยกออกเป็นขั้นตอนได้ว่าเป็นความรู้สึก การรับรู้ และการหยั่งรู้หรือการสร้างมโนภาพ
            การรับรู้ทางดนตรีนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากเพราะการรับรู้ทางดนตรีไม่สามารถอ่านได้จากภาษาเหมือนวรรณคดี หรือสามารถดูได้ด้วยตาแบบภาพวาด แต่การรับรู้ทางดนตรีต้องอาศัยจากการฟังเสียงเพียงอย่างเดียว จะฟังดนตรีให้รู้เรื่องไม่ได้ เพราะดนตรีไม่เป็นเรื่อง การรับรู้ทางดนตรี จึงต้องฟังว่าอะไรเกิดขึ้นในเพลง จะอาศัยให้ใครบอกไม่ได้ ต้องรับรู้ด้วยตนเอง
            3. ความประทับใจ ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยความกินใจหรือประทับใจในการสร้างประสบการณ์ทางสุนทรียะนั้น อารมณ์ที่กระทบต่องานศิลปะสามารถแยกออกเป็นสองขั้นตอนด้วยกันคือ สภาพของจิตที่เปลี่ยนไปกับความรู้สึกที่สนองต่อจิต ซึ่งเกิดขึ้นตามในลำดับต่อมา เช่น ความดันเลือดในร่างกายเปลี่ยนแปลงให้หน้าแดง หน้าซีด การหายใจถี่แรง หรือการถอนหายใจ ความรู้สึกโล่งอกหรืออัดแน่น รู้สึกง่วงนอนหรือกระปรี้กระเปร่า สิ่งเหล่านี้เป็นความรู้สึกที่มีผลมาจากแรงกระทบทางอารมณ์ทั้งสิ้น
ความกินใจต่อเหตุการณ์และเสียงที่ได้ยิน ทั้งเหตุการณ์และเสียงที่กินใจจะจารึกจดจำไว้ในสมอง ถ้าโอกาสหวนกลับมาอีก ความกินใจที่เคยจดจำไว้ก็จะปรากฏขึ้นในความรู้สึกอีก การที่เราเคยได้ยินเสียงดนตรีในงานศพของคนที่เราเคารพรักและหวงแหน หรือในขณะที่เราอยู่ในอารมณ์เศร้า เรามักจะจำเหตุการณ์วันนั้นและเสียงเพลงที่ได้ยินอย่างแม่นยำ
            4. ความรู้ ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยความรู้ การเรียนรู้ของคนอาศัยประสบการณ์ สุนทรียะเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ ความรู้ความเข้าใจเป็นประสบการณ์ที่สามารถแยกแยะหรือวิเคราะห์ การนำมาปะติดปะต่อหรือการสังเคราะห์การสรุปรวบยอด การจัดหมวดหมู่หรือแม้การประเมินผล สิ่งเหล่านี้อาศัยประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจ เป็นตัวสำคัญ
            ตัวอย่างเช่น การไปเดินที่ศูนย์การค้าได้มีโอกาสเห็นเสื้อหลาย ๆ ตัว หลาย ๆ ครั้ง เป็นประสบการณ์ที่จะเลือกเฟ้นเสื้อตัวที่สวยที่สุด จากเสื้อที่เราเลือกแล้วซึ่งเป็นเสื้อที่สวยและพอใจจนซื้อมาใช้ เสื้อหลาย ๆ ตัวเหล่านั้นก็ยังมีเสื้อที่เราชอบที่สุดอีกเพียงไม่กี่ตัว โดยมีข้อมูลอื่น ๆ มาพิจารณา เช่น เหมาะสมกับโอกาสที่จะใส่ วัยของผู้ใช้ เป็นต้น
            ในแง่สุนทรียะของดนตรีนั้น การฟังมาก ๆ เป็นประสบการณ์ที่สำคัญในการที่ยกระดับสุนทรียะของแต่ละคน เพราะสุนทรียะเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่จะต้องสร้างด้วยตนเอง การไม่มีประสบการณ์ในการฟังดนตรีเปรียบเสมือนผู้ที่เดินหลงทางไม่รู้ว่าจะไปทิศทางใด การแก้ปัญหาคือเลือกสักหนึ่งทางแล้วเดินไป อาศัยเวลา ประสบการณ์ระหว่างทางเป็นองค์ประกอบบอกให้เราทราบว่าหลงทางหรือถูกทาง ในทำนองเดียวกันการฟังดนตรีทุกชนิดจะเป็นตัวบอกให้เราทราบว่าดนตรีชนิดใดที่เราชอบและจากดนตรีที่เราชอบเหล่านั้นจะเป็นสะพานเชื่อมไปสู่สุนทรียะในที่สุด
            5. ความเข้าใจวัฒนธรรม ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยความเข้าใจวัฒนธรรมที่เป็นองค์ประกอบของศิลปะนั้น ๆ เพราะศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการที่เราเข้าใจวัฒนธรรมเป็นผลให้เราเข้าใจศิลปะอีกโสตหนึ่งด้วยเพราะ ศิลปะของชนกลุ่มใดย่อมเหมาะกับชนกลุ่มนั้น
            อย่างวัฒนธรรมในการกิน เราอาจจะสงสัยว่าฝรั่งกินแฮมเบอร์เกอร์ ขนมปังทาเนย จะอยู่ท้องได้อย่างไร ในทำนองเดียวกันกับฝรั่งก็สงสัยเราว่ามีน้ำพริกอยู่ถ้วยหนึ่ง ผักอยู่จานหนึ่งแล้วมีคนนั่งล้อมรอบ ๆ 4-5 คน ข้าวคนละจานกินอะไรกัน จะมีอาหารพอกินหรือ คำถามทำนองนี้เกิดขึ้นอยู่เสมอกับคนต่างถิ่น แต่ผู้กินเองมีความอร่อยกับอาหารของตัวเอง แต่ในทางตรงข้าม การไปกินอาหารต่างวัฒนธรรมกลับทำให้รู้สึกกินไม่อิ่ม กินไม่ถูกปาก ฯลฯ การกินเป็นวัฒนธรรมที่ต้องอาศัยประสบการณ์สั่งสมประสบการณ์และนิสัยของการกินเป็นเวลานาน จนเกิดความเคยชินและติดเป็นนิสัย จุดความ อร่อยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความเคยชินและประสบการณ์
            การฟังดนตรีให้เกิดความงามทางสุนทรียะ ต้องอาศัยความเคยชิน ประเพณีนิยม วัฒนธรรมของกลุ่มคนนั้น ดนตรีในหัวใจของแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกันคนถีบสามล้ออาจจะมีเสียงเฟืองล้อกระทบกับโซ่สายพานเป็นซิมโฟนีของเขา คนอยู่ริมทะเลจะมีเสียงลมเสียงคลื่นขับกล่อม หรือคนที่มีบ้านใกล้ทางรถไฟไม่ได้ยินเสียงรถไฟแล้วนอนไม่หลับ เสียงเหล่านี้เกิดขึ้นจากความเคยชินจนกลายเป็นซิมโฟนีในหัวใจของแต่ละคน การที่เราได้ยินได้ฟังลาวดวงเดือนทั้งทางตรง ทางอ้อม ฉบับย่อ ขยายดัดแปลง ทุกวันจนเกิดความเคยชิน ย่อมเข้าใจลาวดวงเดือนมากกว่าคอนแชร์โตของโมสาร์ต เบโธเฟน ซึ่งได้ฟังเป็นครั้งแรก ผลก็คือความซาบซึ้งทางสุนทรียะย่อมแตกต่างกัน
            การสร้างประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยองค์ประกอบที่กล่าวมาแล้วทั้ง 5 ประการ ศิลปะทุกแขนงที่สร้างขึ้นโดยศิลปิน ศิลปินเองก็ต้องอาศัยองค์ประกอบที่กล่าวมาแล้วเช่นกัน ในการสร้างงานศิลปินเปรียบเสมือนเครื่องส่งวิทยุ ผู้ฟังผู้ชมเป็นเครื่องรับวิทยุ อย่างไรก็ตามทั้งศิลปินและผู้ฟังผู้ชมต้องมีคลื่นวิทยุที่มีความถี่ตรงกันจึงจะรับได้ ถึงแม้ว่าจะมีเครื่องส่งและเครื่องรับ แต่ถ้าความถี่คลื่นไมตรงกันก็ไม่สามารถที่จะรับได้
            ดนตรีเป็นศิลปะที่มีความงาม ความละเอียดอ่อน ที่จะต้องอาศัยการสั่งสมประสบการณ์ที่จะเข้าถึง ได้รับสุนทรียรส ทุก ๆ คนมีโอกาสมีสิทธิที่จะเข้าถึงความงามอันนั้น เพราะความงามมีอยู่แล้วในตัวแต่ละคน เพียงแต่ว่าความงามอันนั้นจะถูกขัดเกลาและนำมาใช้มากน้อยเพียงใดเท่านั้น

คุณค่าของสุนทรียศาสตร์

คุณค่าของสุนทรียศาสตร์

          สุนทรียศาสตร์เป็นเรื่องของความรู้ที่เกี่ยวข้องกับความสวย ความงาม และความไพเราะ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่มนุษย์ทุกคนพึงปรารถนา เป็นคุณสมบัติที่ทุกคนต้องการ จริง ๆ แล้ว สุนทรียะยังหมายรวมถึงคุณสมบัติที่สามารถรับรู้ของหู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจพึงปรารถนา นอกจากความสวยและความงามที่ใช้ดูด้วยตาเป็นสื่อ ยังมีความไพเราะที่ต้องฟังด้วยหู กลิ่นหอมที่ต้องดมด้วยจมูก รสชาติที่ต้องชิมด้วยลิ้น การสัมผัสที่จะต้องใช้อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย และต้องใช้จิตใจเป็นความรู้สึกในการรับรู้
            สุนทรียะจะต้องมีสื่อเพื่อที่จะช่วยให้คนได้รับรู้ ปราศจากสื่อก็คือการปราศจากการรับรู้ ไม่มีสื่อเสียแล้วมนุษย์ไม่สามารถที่จะชื่นชมงานศิลปะใด ๆ ได้ คนตาบอดไม่สามารถชื่นชมความสวยงามได้ฉันใด คนหูหนวกก็ไม่สามารถชื่นชมเสียงดนตรีที่ไพเราะฉันนั้น
            ดนตรีเป็นสุนทรียะที่เกี่ยวข้องกับเสียง ดนตรีเกี่ยวข้องกับความไพเราะ เมื่อพูดถึงดนตรีแล้วก็หมายถึงความไพเราะ แต่ยังมีรายละเอียดแยกย่อยลงไปอีกว่า เป็นความไพเราะของใคร เพราะว่าแต่ละคนรับรู้ความไพเราะที่แตกต่างกันคนละระดับกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน คนจึงฟังดนตรีกันหลากหลายต่างชนิดกัน ชื่นชอบเพลงไม่เหมือนกัน
            ความรู้สึกของคำว่า รักคุณเท่าฟ้าทุกคนรู้โดยรวม ๆ ว่าฟ้านั้นกว้าง แต่ความกว้างของฟ้าของแต่ละคนไม่เท่ากันและไม่เหมือนกัน ฟ้าเป็นโลกทัศน์ของแต่ละคน ฟ้าเป็นความรู้สึกที่มั่นคงยิ่งใหญ่และฟ้าเป็นความรู้สึกที่อบอุ่นละเอียดอ่อน
            ทุกคนรู้สึกว่า เหงา  อธิบายไม่ได้แต่รู้สึกได้ คำว่า เหงาของบางคนมีความหมายเล็กเกินไปกว่าความเหงาจริง เพราะรู้สึกว่าเราเหงามากกว่านั้น เหงาเหงาเหงาจะเขียนอีกสักกี่ตัว คำหรือภาษา ก็ยังเล็กไปสำหรับความรู้สึกที่มีความเหงาจริง
            ความรู้สึกปีติ ความอิ่มเอิบ ความภูมิใจ เมื่อได้พบกับความสวยงาม ความงาม ความไพเราะ ได้พบกับบรรยากาศ รสนิยม และคุณค่าที่ดี ความรู้สึกปีติเป็นพลังกายในที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับจิตใจ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นคนไปดูหนังผี เป็นสุนทรียะที่เกิดขึ้นจากความกลัว ที่จริงแล้วคนดูหนังได้เตรียมตัวกลัวผีไปจากบ้านแล้ว ถ้าหนังผีสามารถสร้างความกลัวให้กับผู้ชมได้ถึงใจ คือ สร้างให้ผู้ชมเกิดความกลัวได้ ภาพยนตร์เรื่องนั้นก็เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม แต่ถ้าหากว่าภาพยนตร์ไม่สามารถทำให้ผู้ชมกลัวได้ คือไม่น่ากลัว หนังผีเรื่องนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากดู เพราะหัวใจของหนังผีก็คือการสร้างความกลัวให้เกิดขึ้นกับผู้ชม

การทำบุญละลายบาป

                มีปัญหาที่คนทั่วไปสนใจมากอยู่ข้อหนึ่ง คือ การทำบุญล้างบาปหรือทำบุญละลายบาปจะได้หรือไม่ ?
การทำบุญละลายบาป

                การทำบุญละลายบาปนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ คือ ใช้ความดีละลายความชั่วให้เจือจาง เช่น ความชั่วเกิดขึ้นในใจเมื่อความดีเกิดขึ้นความชั่วย่อมถอยไป ถ้าความดีเกิดขึ้นบ่อย ๆ ไม่ให้โอกาสแก่ความชั่ว ความชั่วก็เกิดขึ้นไม่ได้เรียกว่า เอาความดีมาไล่ความชั่วหรือละลายความชั่ว
                อีกอย่างหนึ่งความชั่วที่บุคคลทำลงไปแล้วซึ่งจะต้องมีผลในโอกาสต่อไป ถ้าผู้นั้นเร่งทำความดีให้มากขึ้นจนท่วมท้นความชั่ว ผลของกรรมชั่วนั้นก็จะค่อย ๆ จางลงจนไม่มีอานุภาพในการทำอันตรายให้ทุกข์ เปรียบเหมือนกรด (เอชิด) ซึ่งมีคุณสมบัติทำลายชีวิตได้ แต่ถ้าเติมด่าง (อัลคอไลน์)    ลงไปเรื่อย ๆ  กรดนั้นก็เจือจางลงจนหมดคุณสมบัติในการทำลายให้โทษ
                เปรียบเทียบอีกอย่างหนึ่งเหมือนเกลือกับน้ำ สมมติว่าเอาเกลือกำมือหนึ่งใส่ลงไปในน้ำแก้วหนึ่ง น้ำนั้นจะเค็มมากเพราะน้ำน้อย แต่ถ้าเราเอาเกลือจำนวนนั้นใส่ลงไปในถึงน้ำใหญ่ ๆ ความเค็มจะไม่ปรากฏ แม้เกลือจะยังมีอยู่เท่าเดิม มันกลายเป็นเหมือนไม่มี ที่ทางพระท่านเรียก อัพโพหาริกแปลว่า มีเหมือนไม่มีเรียกไม่ได้ว่ามีหรือไม่มีเหมือนน้ำในก้อนดินแห้งหรือในเนื้อไม้ เรารู้ได้ว่ามีความชื้นอันเป็นคุณสมบัติของน้ำ เมื่อเราจุดไฟเผามีควันขึ้นมา
                เอน้ำเกลือในแก้วซึ่งเค็มมากนั้น เทลงไปในถังใหญ่ ๆ แล้วเติมน้ำบงไปเรื่อย ๆ โดยไม่เติมเกลือในที่สุดน้ำนั้นจะไม่ปรากฏความเค็มเลย เพราะจำนวนน้ำเหนือจำนวนเกลือมากนัก ข้อนี้ฉันใด การ  ทำความดีละลายความชั่วหรือละลายผลแห่งกรรมชั่วก็เป็นฉันนั้น ในที่นี้ความชั่วเปรียบเหมือนเกลือ ความดีเปรียบเหมือนน้ำ ในทางกลับกัน กรรมดีเล็กน้อยอาจถูกกรรมชั่วละลายได้เช่นกัน
                เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีพระพุทธภาษิตอ้างอิงดังนี้
                ภิกษุ ทั้งหลายบุคคลบางคนทำบาปกรรมเพียงเล็กน้อย บาปกรรมนั้นนำเขาไปสู่นรก บางคนทำเพียงเล็กน้อยเช่นนั้นเหมือนกัน แต่บาปนี้ให้ผลเพียงในปัจจุบันชาตินี้เท่านั้น (ทิฏฺฐธมฺมเวทนยํ) ไม่ปรากฏผลอีกต่อไป
                บุคคลเช่นไร ทำบาปเพียงเล็กน้อยแล้วไปนรก?  คือบุคคลผู้มิได้อบรมกาย มิได้อบรมศีล มิได้อบรมจิต มิได้อบรมปัญญา มีคุณธรรมน้อย ใจต่ำ บุคคลเช่นนี้แหละ ทำบาปเพียงเล็กน้อยแล้วไปนรก
                บุคคลเช่นไร ทำบาปเพียงเล็กน้อย แต่บาปนั้นให้ผลอันแสบเผ็ดเพียงในชาติปัจจุบันแล้วไม่ให้ผลอีกต่อไป?  คือบุคคลผู้ได้อบรมกาย อบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญาแล้ว มีคุณธรรมมาก มีใจใหญ่ อยู่ด้วยคุณมีเมตตาเป็นต้นอันหาประมาณมิได้
                เปรียบเหมือนบุคคลใส่ก้อนเกลือลงไปในจอกน้ำเล็ก ๆ น้ำนี้ย่อมเค็ม เพราะน้ำน้อยแต่ถ้าใส่ก้อนเกลือนั้นลงไปในแม่น้ำคงคา น้ำในแม่น้ำคงคาจะไม่เค็มเพราะก้อนเกลือนั้นเลย เพราะน้ำมีมากฉันใด
                ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนทำบาปเล็กน้อย บาปนั้นนำเขาไปสู่นรก (เพราะเขามีคุณน้อย) บางคนทำบาปเล็กน้อยบาปนี้ให้ผลเพียงในปัจจุบัน ไม่ให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป (เพราะเขามีคุณมาก) ฉันนั้น
                คนที่มีคุณธรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงเพียงเล็กน้อยเหมือนน้ำในถ้วยเล็ก ๆ เมื่อทำบาป บาปย่อมให้ผลมากส่วนคนมีคุณมากเหมือนน้ำในแม่น้ำ เมื่อทำบาป บาปให้ผลเพียงเล็กน้อยหรืออาจไม่ให้ผลเลยก็ได้ คุณธรรมหรือความดีจึงมีอานุภาพทำลายบาป ล้างบาปไปในตัว
                บุคคลยิ่งมีคุณธรรมสูงมากขึ้นเพียงใด โอกาสที่จะล้างบาปหรือละลายบาปก็มีมากขึ้นเพียงนั้น เพราะคุณความดีหรือความบริสุทธิ์ของใจนั้น มีคุณสมบัติอานุภาพในการทำลายบาป ดังพระพุทธภาษิตว่า
                หม้อที่คว่ำ ย่อมคายน้ำออกไม่ทำให้น้ำไหลเอข้าไปข้าในฉันใด ผู้อบรมแล้วทำให้มากแล้วซึ่งอริยมรรคมีองค์ 8 ก็ย่อมคายบาปคายอกุศลธรรมออก ไม่ให้บาปอกุศลธรรมเข้าไปข้าในฉันนั้น
                ผู้มีกายสะอาด วาจาสะอาด ใจสะอาด ไม่มีอาสวะคือกิเลสที่หมักหมม นักปราชญ์เรียกผู้สะอาดสมบูรณ์ด้วยความสะอาดเช่นนั้นว่า เป็นผู้ล้างบาปได้
                ด้วยประการดังกล่าวมานี้ แสดงว่าการทำความดีละลายความชั่วในใจและการทำความดีละลายผลแห่งกรรมชั่วที่ทำลงไปแล้วย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เป็นการเปิดโอกาสให้คนผู้เคยผิดพลาดได้กลับตัว
                ในเรื่องชีวิตธรรมดา สมมติว่ามีใครคนหนึ่งเคยความเดือดร้อน เจ็บซ้ำใจให้แก่เรา ต่อมาเขารู้สึกตัวรับทำความดีต่อเราและทำเป็นการใหญ่ เราเห็นใจเขา กลับรักเขาให้อภัยในความผิดพลาดของเขา จริงอยู่สิ่งที่เขาทำลงไปแล้วนั้นก็เป็นอันทำแล้วทำคืนไม่ได้ แต่ความดีใหม่ที่เขาทำลงไปเป็นอันมากนั้นย่อมมีผลลบล้างความชั่วได้ นอกจากนั้นยังมีกำไรเสียอีก
                อีกอุปมาหนึ่งเหมือนคนเคยเป็นหนี้เมื่อได้ใช้หนี้แล้ว ใช้หมดแล้วยังมีเงินเหลือให้ผู้ที่เขาเคยเป็นหนี้อีกมากมายอย่างนี้เจ้าหนี้ย่อยจะพอใจเป็นอันมากเขาได้ชื่อว่าเคยเป็นหนี้เท่านั้น หนี้สินหาได้ติดตัวเขาอยู่จนบัดนี้ไม่ การทำชั่วเหมือนการก่อหนี้ สานการทำดีเหมือนการปลดเปลื้องหนี้ และการให้หนี้การทำความดีจึงดีกว่าการทำชั่ว
                อีกตอนหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงปรารภพระองคุลิมาลแล้วตรัสว่า บาปกรรมที่บุคคลทำแล้ว ย่อมละเสียได้ด้วยกุศลกรรม บุคคลเช่นนั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่างเหมือนดวงจันทร์ที่พ้นจากเมฆหมอก ฉะนั้น
                นี้แสดงว่า บุคคลสามารถละลายหรือล้างบาปกรรมด้วยกุศลกรรมได้
                ความจริงเรื่องนี้ ทำให้ผู้ที่เคยทำชั่วมีกำลังใจในการทำความดี ในการกลับตัวไม่ถลำลึกลงไปในความชั่วคนที่เคยทำความชั่วมา ถ้าเขารู้สึกตัวแล้วและพยายามทำความดี อาจทำความดีได้มากกว่าและเป็นคนดีได้มากกว่าผู้ที่ไม่เคยทำชั่วมาเสียอีก
                การทำผิดเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ แต่ถ้าค้นพบความผิดแล้วแก้ไขและตั้งใจว่าจะไม่ทำอีกเป็นซ้ำสองก็น่ายกย่องนับถือยิ่งขึ้น
                 รวมความว่า ตามหลักพระพุทธศาสนานั้น บาปย่อมล้างได้ด้วยบุญ กรรมชั่วล้างได้หรือละลายได้ด้วยกรรมดีแต่ต้องใช้เวลานาน กุศลกรรมที่แรง ๆ เช่น อรหัตตมรรค อรหัตตผล  สามารถลบล้างความชั่วในใจได้หมดและมีอานุภาพห้ามผลแห่งกรรมชั่วเก่า ๆ ที่เคยทำมาแล้วได้หมดสิ้น จะได้ผลอยู่บ้างก็เพราะเวลาที่ท่านยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น พอท่านนิพพานแล้วผลกรรมต่าง ๆ ก็เป็นอโหสิกรรมไปหมดสิ้น

ธรรมชาติของภาษา

ธรรมชาติของภาษา
                การใช้ภาษา คือการนำภาษามาใช้เพื่อสื่อความหรือสื่อสาร การสื่อความหรือสื่อสารมีผู้เกี่ยวข้องกันสองฝ่ายคือ ผู้ส่งความ กับผู้รับความ หรือผู้ส่งสารกับผู้รับสาร
            ผู้ส่งความหรือผู้ส่งสารใช้การพูดกับการเขียนเป็นเครื่องมือ ส่วนผู้รับความหรือผู้รับใช้การฟังและการอ่านเป็นเครื่องมือ
            การใช้ภาษาจะมีประสิทธิภาพได้ก็เมื่อทั้งสองฝ่ายเข้าใจความหรือสารได้ตรงตามความต้องการ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีข้อบกพร่องในการใช้เครื่องมือของตน การสื่อความหรือสื่อสารนั้นย่อมมีปัญหา
            มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความพร้อมที่จะ เรียนรู้ และ เลียนแบบ ภาษา ไม่มีเด็กคนใดที่เกิดมาก็สามารถพูดได้ทันที มีแต่ความสามารถที่จะรับรู้ข้อมูลทางด้านภาษาจากรอบตัวเข้ามา แล้ววิเคราะห์หาหลักว่าภาษาที่ได้รับมานั้นมีลักษณะอย่างไร ถ้าจะสร้างเองจะต้องทำอย่างไร เมื่อรู้หลักแล้วก็มีการจดจำและเลียนแบบข้อมูลที่ได้รับไปเรื่อยๆ มีงานวิจัยที่ยืนยันว่า เมื่อเด็กอายุ 6 ขวบ จะสามารถพูดภาษาพื้นเมืองได้ดี (ทั้งนี้รวมทั้งการฟังด้วย) คือ ออกเสียได้ชัดเจนและพูดถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ของภาษานั้นๆ แต่คำศัพท์ที่รู้อาจจะมีจำนวนจำกัด ส่วนการเขียนการอ่านนั้นจะต้องเรียนกันอย่างจริงจัง
            กล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือ พ่อแม่ ญาติ พี่น้อง ที่เข้ามาพูดจาด้วยช่วยให้ตัวอย่างประโยค และช่วยเพิ่มคำให้แก่พจนานุกรมในหัวของเด็ก เด็กไทยไปเติบโตเมืองฝรั่ง ได้ข้อมูลเป็นภาษาฝรั่งก็พูดภาษาฝรั่ง เด็กฝรั่งมาเติบโตในเมืองไทย ได้ข้อมูลเป็นภาษาไทย ก็พูดภาษาไทย ถ้าได้ข้อมูลหลายภาษาในเวลาเดียวกัน เด็กคนนั้นก็จะเป็นคนพูดได้หลายภาษา
            โครงสร้างของประโยคนั้นมีอยู่ไม่มาก คนเราสามารถรับรู้และสร้างประโยคทุกชนิดในภาษาของตนได้ในเวลาไม่นานนัก แต่ข้อมูลทางด้านคำนั้นคนเรามีไม่เท่ากัน แล้วแต่ประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ประสบการณ์ที่ว่านี้ หมายรวมทั้งครอบครัว การศึกษา สังคม ฯลฯ
เมื่อก่อนนี้คนเรารับข้อมูลกันโดยธรรมชาติ กล่าวคือรับจากครอบครัว โรงเรียน และสังคมในวงแคบเท่านั้น แต่ทุกวันนี้ ข้อมูลเข้ามาจากแหล่งต่างๆ มากมาย ทั้งโดยธรรมชาติ และผิดธรรมชาติ ความสามารถในการเลียนแบบของมนุษย์ก็ได้ทำงานอย่างเต็มที่ คำที่พ่อแม่ครูอาจารย์ไม่เคยสั่งสอน เด็กก็สามารถที่จะใช้ได้ แต่จะเข้าใจหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตัวอย่าง เช่น เด็กชายวัย 3 – 4 ขวบ เวลาอยู่ในสวนสนุก ก็สามารถจะพูดได้ว่า เอขอควบคุมยานอวกาศ นะฮับหรือเด็กหญิงวัยเดียวกันก็อาจจะพูดกับคุณยายได้ว่า จุนยายจายก มรดก ให้บีไม้ค่ะ ซึ่งพอจะเดากันได้ว่าคงจะได้มาจากภาพยนตร์ โทรทัศน์ หรือการ์ตูนนั่นเอง หรือเด็กบางคนก็อาจจะพูดได้ว่า ฮ่วยแซบอีหลีทั้งๆ ที่พ่อแม่ก็พูดแบบนั้นไม่เป็น ซึ่งก็คงจะเดากันได้ไม่ยากว่าเอามาจากไหน นี่คือธรรมชาติของชีวิตปัจจุบันที่แหล่งข้อมูลมีกว้างขวางขึ้นกว่าสมัยก่อน ครอบครัวและโรงเรียนไม่ใช่สถาบันเพียง 2 สถาบันที่จะเป็นแหล่งข้อมูลอีกต่อไป
            ในขณะเดียวกันเด็กบางคนก็ยังมีปัญหาทางด้านภาษาจำกัด ต้องใช้เวลารับภาษาอีกพอสมควรจึงจะใช้ภาษาในสังคมนั้นๆ ได้อย่างเหมาะสม ข้อพิสูจน์ในเรื่องการรับข้อมูลทางภาษาไม่เท่ากันนี้จะเห็นได้ในรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งซึ่งให้เด็กอายุไม่เกิน 8 ขวบมาให้คำจำกัดความของคำบางคำ ปรากฏว่าเด็กจะตอบได้ตามประสบการณ์แห่งภาษาของตนเท่านั้น เช่น ดาวเทียมหมายถึง ดาวใส่กระเทียม” “เด็กแก่แดดหมายถึง เด็กที่อยู่ในแดดนานๆเป็นต้น