มีปัญหาที่คนทั่วไปสนใจมากอยู่ข้อหนึ่ง คือ การทำบุญล้างบาปหรือทำบุญละลายบาปจะได้หรือไม่ ?
การทำบุญละลายบาป
การทำบุญละลายบาปนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ คือ ใช้ความดีละลายความชั่วให้เจือจาง เช่น ความชั่วเกิดขึ้นในใจเมื่อความดีเกิดขึ้นความชั่วย่อมถอยไป ถ้าความดีเกิดขึ้นบ่อย ๆ ไม่ให้โอกาสแก่ความชั่ว ความชั่วก็เกิดขึ้นไม่ได้เรียกว่า เอาความดีมาไล่ความชั่วหรือละลายความชั่ว
อีกอย่างหนึ่งความชั่วที่บุคคลทำลงไปแล้วซึ่งจะต้องมีผลในโอกาสต่อไป ถ้าผู้นั้นเร่งทำความดีให้มากขึ้นจนท่วมท้นความชั่ว ผลของกรรมชั่วนั้นก็จะค่อย ๆ จางลงจนไม่มีอานุภาพในการทำอันตรายให้ทุกข์ เปรียบเหมือนกรด (เอชิด) ซึ่งมีคุณสมบัติทำลายชีวิตได้ แต่ถ้าเติมด่าง (อัลคอไลน์) ลงไปเรื่อย ๆ กรดนั้นก็เจือจางลงจนหมดคุณสมบัติในการทำลายให้โทษ
เปรียบเทียบอีกอย่างหนึ่งเหมือนเกลือกับน้ำ สมมติว่าเอาเกลือกำมือหนึ่งใส่ลงไปในน้ำแก้วหนึ่ง น้ำนั้นจะเค็มมากเพราะน้ำน้อย แต่ถ้าเราเอาเกลือจำนวนนั้นใส่ลงไปในถึงน้ำใหญ่ ๆ ความเค็มจะไม่ปรากฏ แม้เกลือจะยังมีอยู่เท่าเดิม มันกลายเป็นเหมือนไม่มี ที่ทางพระท่านเรียก “อัพโพหาริก” แปลว่า “มีเหมือนไม่มี” เรียกไม่ได้ว่ามีหรือไม่มีเหมือนน้ำในก้อนดินแห้งหรือในเนื้อไม้ เรารู้ได้ว่ามีความชื้นอันเป็นคุณสมบัติของน้ำ เมื่อเราจุดไฟเผามีควันขึ้นมา
เอน้ำเกลือในแก้วซึ่งเค็มมากนั้น เทลงไปในถังใหญ่ ๆ แล้วเติมน้ำบงไปเรื่อย ๆ โดยไม่เติมเกลือในที่สุดน้ำนั้นจะไม่ปรากฏความเค็มเลย เพราะจำนวนน้ำเหนือจำนวนเกลือมากนัก ข้อนี้ฉันใด การ ทำความดีละลายความชั่วหรือละลายผลแห่งกรรมชั่วก็เป็นฉันนั้น ในที่นี้ความชั่วเปรียบเหมือนเกลือ ความดีเปรียบเหมือนน้ำ ในทางกลับกัน กรรมดีเล็กน้อยอาจถูกกรรมชั่วละลายได้เช่นกัน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีพระพุทธภาษิตอ้างอิงดังนี้
“ภิกษุ ทั้งหลายบุคคลบางคนทำบาปกรรมเพียงเล็กน้อย บาปกรรมนั้นนำเขาไปสู่นรก บางคนทำเพียงเล็กน้อยเช่นนั้นเหมือนกัน แต่บาปนี้ให้ผลเพียงในปัจจุบันชาตินี้เท่านั้น (ทิฏฺฐธมฺมเวทนยํ) ไม่ปรากฏผลอีกต่อไป
“บุคคลเช่นไร ทำบาปเพียงเล็กน้อยแล้วไปนรก? คือบุคคลผู้มิได้อบรมกาย มิได้อบรมศีล มิได้อบรมจิต มิได้อบรมปัญญา มีคุณธรรมน้อย ใจต่ำ บุคคลเช่นนี้แหละ ทำบาปเพียงเล็กน้อยแล้วไปนรก
“บุคคลเช่นไร ทำบาปเพียงเล็กน้อย แต่บาปนั้นให้ผลอันแสบเผ็ดเพียงในชาติปัจจุบันแล้วไม่ให้ผลอีกต่อไป? คือบุคคลผู้ได้อบรมกาย อบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญาแล้ว มีคุณธรรมมาก มีใจใหญ่ อยู่ด้วยคุณมีเมตตาเป็นต้นอันหาประมาณมิได้
“เปรียบเหมือนบุคคลใส่ก้อนเกลือลงไปในจอกน้ำเล็ก ๆ น้ำนี้ย่อมเค็ม เพราะน้ำน้อยแต่ถ้าใส่ก้อนเกลือนั้นลงไปในแม่น้ำคงคา น้ำในแม่น้ำคงคาจะไม่เค็มเพราะก้อนเกลือนั้นเลย เพราะน้ำมีมากฉันใด
“ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนทำบาปเล็กน้อย บาปนั้นนำเขาไปสู่นรก (เพราะเขามีคุณน้อย) บางคนทำบาปเล็กน้อยบาปนี้ให้ผลเพียงในปัจจุบัน ไม่ให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป (เพราะเขามีคุณมาก) ฉันนั้น
คนที่มีคุณธรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงเพียงเล็กน้อยเหมือนน้ำในถ้วยเล็ก ๆ เมื่อทำบาป บาปย่อมให้ผลมากส่วนคนมีคุณมากเหมือนน้ำในแม่น้ำ เมื่อทำบาป บาปให้ผลเพียงเล็กน้อยหรืออาจไม่ให้ผลเลยก็ได้ คุณธรรมหรือความดีจึงมีอานุภาพทำลายบาป ล้างบาปไปในตัว
บุคคลยิ่งมีคุณธรรมสูงมากขึ้นเพียงใด โอกาสที่จะล้างบาปหรือละลายบาปก็มีมากขึ้นเพียงนั้น เพราะคุณความดีหรือความบริสุทธิ์ของใจนั้น มีคุณสมบัติอานุภาพในการทำลายบาป ดังพระพุทธภาษิตว่า
“หม้อที่คว่ำ ย่อมคายน้ำออกไม่ทำให้น้ำไหลเอข้าไปข้าในฉันใด ผู้อบรมแล้วทำให้มากแล้วซึ่งอริยมรรคมีองค์ 8 ก็ย่อมคายบาปคายอกุศลธรรมออก ไม่ให้บาปอกุศลธรรมเข้าไปข้าในฉันนั้น”
“ผู้มีกายสะอาด วาจาสะอาด ใจสะอาด ไม่มีอาสวะคือกิเลสที่หมักหมม นักปราชญ์เรียกผู้สะอาดสมบูรณ์ด้วยความสะอาดเช่นนั้นว่า เป็นผู้ล้างบาปได้”
ด้วยประการดังกล่าวมานี้ แสดงว่าการทำความดีละลายความชั่วในใจและการทำความดีละลายผลแห่งกรรมชั่วที่ทำลงไปแล้วย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เป็นการเปิดโอกาสให้คนผู้เคยผิดพลาดได้กลับตัว
ในเรื่องชีวิตธรรมดา สมมติว่ามีใครคนหนึ่งเคยความเดือดร้อน เจ็บซ้ำใจให้แก่เรา ต่อมาเขารู้สึกตัวรับทำความดีต่อเราและทำเป็นการใหญ่ เราเห็นใจเขา กลับรักเขาให้อภัยในความผิดพลาดของเขา จริงอยู่สิ่งที่เขาทำลงไปแล้วนั้นก็เป็นอันทำแล้วทำคืนไม่ได้ แต่ความดีใหม่ที่เขาทำลงไปเป็นอันมากนั้นย่อมมีผลลบล้างความชั่วได้ นอกจากนั้นยังมีกำไรเสียอีก
อีกอุปมาหนึ่งเหมือนคนเคยเป็นหนี้เมื่อได้ใช้หนี้แล้ว ใช้หมดแล้วยังมีเงินเหลือให้ผู้ที่เขาเคยเป็นหนี้อีกมากมายอย่างนี้เจ้าหนี้ย่อยจะพอใจเป็นอันมากเขาได้ชื่อว่าเคยเป็นหนี้เท่านั้น หนี้สินหาได้ติดตัวเขาอยู่จนบัดนี้ไม่ การทำชั่วเหมือนการก่อหนี้ สานการทำดีเหมือนการปลดเปลื้องหนี้ และการให้หนี้การทำความดีจึงดีกว่าการทำชั่ว
อีกตอนหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงปรารภพระองคุลิมาลแล้วตรัสว่า “บาปกรรมที่บุคคลทำแล้ว ย่อมละเสียได้ด้วยกุศลกรรม บุคคลเช่นนั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่างเหมือนดวงจันทร์ที่พ้นจากเมฆหมอก ฉะนั้น”
นี้แสดงว่า บุคคลสามารถละลายหรือล้างบาปกรรมด้วยกุศลกรรมได้
ความจริงเรื่องนี้ ทำให้ผู้ที่เคยทำชั่วมีกำลังใจในการทำความดี ในการกลับตัวไม่ถลำลึกลงไปในความชั่วคนที่เคยทำความชั่วมา ถ้าเขารู้สึกตัวแล้วและพยายามทำความดี อาจทำความดีได้มากกว่าและเป็นคนดีได้มากกว่าผู้ที่ไม่เคยทำชั่วมาเสียอีก
“การทำผิดเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ แต่ถ้าค้นพบความผิดแล้วแก้ไขและตั้งใจว่าจะไม่ทำอีกเป็นซ้ำสองก็น่ายกย่องนับถือยิ่งขึ้น”
รวมความว่า ตามหลักพระพุทธศาสนานั้น บาปย่อมล้างได้ด้วยบุญ กรรมชั่วล้างได้หรือละลายได้ด้วยกรรมดีแต่ต้องใช้เวลานาน กุศลกรรมที่แรง ๆ เช่น อรหัตตมรรค อรหัตตผล สามารถลบล้างความชั่วในใจได้หมดและมีอานุภาพห้ามผลแห่งกรรมชั่วเก่า ๆ ที่เคยทำมาแล้วได้หมดสิ้น จะได้ผลอยู่บ้างก็เพราะเวลาที่ท่านยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น พอท่านนิพพานแล้วผลกรรมต่าง ๆ ก็เป็นอโหสิกรรมไปหมดสิ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น